กิมจิ ผักดองเค็มภูมิปัญญาบรรพบุรุษสู่อาหารประจำชาติเกาหลี

เรื่องน่ารู้ของเกาหลี

จากในอดีตเชื่อกันว่า กิมจิ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศเกาหลี ช่วงศตวรรษที่ 7 ยุคฤดูหนาว ชาวเกาหลีคิดวิธีการถนอมอาหาร เพื่อมาทดแทนผักสดที่หาได้ยาก ข้อสันนิษฐานถึงคำว่า “กิมจิ” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ชิมเช” ที่แปลว่าผักดองเค็ม

โดยส่วนใหญ่แล้ว กิมจิ จะถูกทำขึ้นหลังจากที่ชาวไร่ชาวสวนเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้น นำมาทำผักดองเค็มด้วยเกลือผสมกับกระเทียมหมักในไหแล้วนำไปฝังดิน ปัจจุบันกิมจิมีมากกว่า 187 ชนิด แตกต่างกันตามถิ่นฐาน ส่วนผสมและสภาพอากาศ

ประวัติศาสตร์ของกิมจิในแต่ละยุคสมัย

กิมจิในสมัยอาณาจักรโคเรียว หรือ อาณาจักรโครยอ

ยุคสมัยโคเรียวมีกิมจิเพียง 2 ชนิด ลงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ว่า “กิมจิ” เป็นยารักษาโรคทางภาคตะวันออกของประเทศ เรียกว่า “ฮันยักกูกึบบัง” จากตำรากล่าวถึงกิมจิ แค่ 2 ชนิด

“กิมจิ-จางอาจิ” (Kimchi-jangajji) เป็นกิมจิชนิดที่หนึ่ง ทำจากหัวผักกาดฝานเป็นแผ่นดองด้วยซอสถั่วเหลือง
“ซุมมู โซกึมชอลรี” (Summu Sogeumjeori) เป็นกิมจิชนิดที่สอง ใช้หัวไชโป๊ดองเพิ่มเพื่อปรับปรุงรสชาติของกิมจิให้จัดจ้านขึ้น

กิมจิในสมัยโชซอน หรือ สมัยโชซ็อน

กิมจิในยุคสมัยโชซอน จะเป็นการใช้ผักใบเขียวมาดองกับเกลือหรือเหล้า จนถึงเหตุการณ์สู้รบบนคาบสมุทรเกาหลีที่เรียกสงครามครั้งนี้ว่า การรุกรานเกาหลีของฮิเดะโยะชิ สงครามเจ็ดปี และ สงครามอิมจิน หลังจากนั้นไม่นานในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 มีการนำเข้าผักจากต่างประเทศ พริกแดงจากญี่ปุ่น พริกจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในกิมจิหลังจากผ่านไปแล้ว 200 ปี สมัยราชวงศ์โชซ็อนสีของกิมจิจึงมีสีเป็นสีแดง

ยุคสมัยโชซอน จะมีการทำกิมจิเพื่อใช้ถวายต่อกษัตริย์ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด

“ชอทกุกจิ” (Jeotgukji) เป็นกิมจิชนิดที่หนึ่ง ทำจากกะหล่ำปลีผสมกับปลาหมัก
“คักดูกิ” (kkakdugi) เป็นกิมจิชนิดที่สอง ทำจากหัวผักกาด
“โชซ็อน มูซางซานชิก โยรีเจบ็อบ” (Joseon massangsansik yorijebeop) เป็นกิมจิชนิดที่สาม เป็นกิมจิจากน้ำหมักตำราอาหารของราชสำนักโชซอนมีลูกแพร์เป็นส่วนผสมสำหรับใช้ทำก๋วยเตี๋ยวเย็นโดยเฉพาะ ทำเพื่อถวายกษัตริย์พร้อมด้วยน้ำซุปเนื้อ

กิมจิในสมัยยุคปัจจุบัน

กล่าวได้ว่าตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันทำให้กิมจิกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวเกาหลี จึงขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารประจำชาติของเกาหลีได้ ทั้งยังแพร่หลายในวงกว้างกับประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน รัสเซีย ฮาวาย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่นที่นำกิมจิเป็นเครื่องเคียงในอาหารของชาติตนเองโดยเรียกว่า คิมุชิ (Kimuchi) และกลายเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ